หน้าแรก
รู้จักเรา
บทความ
ติดต่อเรา

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย ประจำเดือนตุลาคม2563 : “First Bomb?”

06 ตุลาคม 2563, 19.30น   290 views

Key Takeaways :

SET indexปรับตัวลงแรงในเดือนกันยายน จากข่าวร้ายต่างๆที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเราแนะนำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ทยอยเพิ่มพอร์ต เพื่อเก็งกำไรผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะออกมาในเร็วๆนี้
“SET Indexปรับตัวลดลง-5.6% ในเดือนกันยายน”

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนกันยายน2563 ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงจาก1310.66 ลงมาปิดที่1,237.04 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลง -5.6% โดยปัจจัยกดดันหลัก คือ ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และ การแพร่ระบาดระลอกสอง(Second Wave)ของไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศ

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 24% กลุ่มยานยนต์ 3.5% และประกันภัยและประกันชีวิต 0.9% ขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ -11.3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง -10.4% และกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ -9.3% โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นไทยสุทธิ 23,189 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 12,874 ล้านบาท

COVID-19ยังแรงต่อเนื่อง แบบไม่เลือกชนชั้น

"ทรัมป์ และ ทักษิณก็ไม่รอดโควิด"

การแพร่ระบาดของCOVID-19 ยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยสรุป สามารถสรุปได้ดังนี้

  • ทั่วโลก : จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเริ่มทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 250,000-300,000 ราย/วัน โดยปัจจุบัน ณ.วันที่6 ตุลาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสทั่วโลก 35,738,536 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 1,046,624 ราย
  • สหรัฐ(อันดับ1) : สถานการณ์ทรงตัว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันคงที่อยู่ที่ประมาณ 35,000-40,000 ราย/วัน
  • ประเทศเพื่อนบ้าน : จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
  • Second Wave : หลายประเทศเริ่มกลับมามีแนวโน้มผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้ง คือ ประเทศในกลุ่มยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ,เยอรมัน,ฝรั่งเศส รวมไปถึงประเทศอิหร่านและรัสเซีย ทำให้ประเทศต่าง ๆ มีการใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ความคืบหน้าการทดลองวัคซีนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยรัสเซียได้เริ่มประกาศใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการ(แม้ว่าจะยังทดลองไม่สมบูรณ์) ขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในการทดลองPhrase3(น่าจะได้ผลและใช้ได้จริง) ทั้งสิ้น11ตัว โดยสามารถติดตามได้จากบทความ https://www.allfinn.net/vaccine_covid19_list/

การเมืองไทยยังฝุ่นตลบ

"เราได้ รมว.คลังคนใหม่ ชื่อ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สำหรับการเมืองไทย ในเดือนที่กันยายนที่ผ่านมาเรียกได้ว่าฝุ่นตลบหนักหน่วง โดยเริ่มตั้งแต่

  • การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่ม โดยไฮไลท์หลักอยู่ที่ การชุมนุมของกลุ่ม"แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ในวันที่19กันยายน โดยแกนนำประกาศว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 2แสนคน แต่ตำรวจประเมินว่าไม่เกิน5หมื่นคน
  • การประชุมสภาฯเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24กันยายน จบลงด้วยการ"เตะถ่วง" ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาเป็นเวลา30วัน
  • การแต่งตั้ง รมว.คลัง คนใหม่ ในวันที่ 5 ตุลาคม คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ" อดีตเลขาสภาพัฒน์ฯ ซึ่งก็จัดว่าเป็น"ลูกหม้อ"มาตั้งแต่ยุค คสช.เลยทีเดียว

ซึ่งในภาพรวมถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น แต่ก็ยังนับว่ามีเรื่องดีสองเรื่อง คือ การชุมนุมไม่เกิดความรุนแรง และ เราได้ รมว.คลังคนใหม่ เข้ามาทำหน้าที่เสียที... ก็ได้แต่หวังว่าท่านจะไม่รีบชิงลาออกไปเสียก่อนนะครับ

ความเห็น

"ตุลาคม...เดือนแห่งการเมือง"

ถ้าจะสรุปบทวิเคราะห์เดือนนี้ ด้วยคำๆเดียว ก็ต้องบอกว่าเดือนนี้เป็น "เดือนแห่งการเมือง" โดยไฮไลท์สำคัญในเดือนนี้ จะอยู่ที่สองเรื่อง ได้แก่

  • การเมืองโลก : การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563
  • ในประเทศ : ผลการลงมติของสภาฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะต้องส่งผลรายงานในวันที่ 23 กันยายน 2563

ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นประเด็นหลักที่จะต้องติดตามในเดือนนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นอย่างรุนแรง

"ลุงโจ" ยังนำ "พี่ทรัมป์"
แต่...อะไรก็ไม่แน่นอน

สำหรับประเด็นแรกในเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐ ซึ่งเป็นการท้าชิงระหว่างพี่ทรัมป์(Donald Trump) กับ ลุงโจ(Joe Biden) ซึ่งผลโพลล่าสุด Biden ยังคงนำ Trump อยู่ที่ 51 : 42 ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าทรัมป์จะคิดไม้เด็ดพลิกคะแนนระหว่างนอนรักษาตัวจากโควิดได้หรือไม่

แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง นโยบายทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจอย่างสหรัฐคงต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของนโยบาย เศรษฐกิจ , สิ่งแวดล้อม , การค้า-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าจะไม่เปลี่ยนอย่างแน่นอนคือ "การพยายามขับเคี่ยวการเป็นมหาอำนาจกับประเทศจีน" เพราะอย่างที่เราเคยเล่าให้ฟังในบทวิเคราะห์เดือนกันยายน ว่าความขัดแย้งดังกล่าว มีถึง3มิติ คือ เศรษฐกิจ , เทคโนโลยี และ ความมั่นคง

ซึ่งสงครามการค้าเป็นเพียงหน้าฉาก...สิ่งสำคัญคือเรื่องความมั่นคง(เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นเอง)

ม๊อบแก้รัฐธรรมนูญ
จากเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว อาจจะแย่หนักไปอีก

สำหรับในส่วนของการเมืองไทย ต้องจับตาประเด็นเรื่อง "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนระเบิดสำคัญ ให้กลุ่มม๊อบต่างๆ ยกระดับการชุมนุม จนกระทบต่อเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ให้แย่หนักขึ้นไปอีก

รมว.คลัง - รมว.ช่วยฯ จะทำงานเข้าขากันได้หรือไม่

อีกเรื่องที่ต้องจับตา คือ การทำงานเข้าขากันระหว่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังคนใหม่ กับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งถึงแม้นายอาคมจะเป็น "ลูกหม้อเก่า" ตั้งแต่ยุค คสช. แต่ก็ต้องบอกว่า การแต่งตั้งนายอาคมเข้ามาเป็น รมว. สร้างความไม่พอใจให้กับนายสันติพอสมควร เพราะนายสันติก็แสดงท่าทีอยากเป็น รมว.คลังมาตลอด จนมีข่าวเม้าท์ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกภายในเวลา 27 วัน ก็เพราะ "ขัดขาเก้าอี้กันเอง" ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ท่านอาคม อย่าพึ่งรีบลาออกเสียก่อน...

สิ้นสุดมาตรการพักหนี้-พักชำระหนี้
ระเบิดเศรษฐกิจไทย?

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะกลาง 1-2 ปี จากนี้ เราก็ยังมองว่า "แย่" เหมือนเดิม

โดยระเบิดลูกแรกจะเริ่มจาก "การสิ้นสุดมาตรการพักหนี้-พักชำระหนี้" ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาช่วยเหลือในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันไม่ต่อมาตรการฯ ด้วยเหตุผลว่า "ลูกหนี้ส่วนใหญ่ เอาตัวรอดแล้ว"

แต่...ในแง่ความจริง ถามว่าคนที่รอดส่วนใหญ่ คือใคร?

หากรายใหญ่รอด แต่SMEsไปไม่รอด
เราจะได้เริ่มเห็นการปิดกิจการ+ปลดคนออก ระลอกใหญ่อีกครั้งนึง

หากนักลงทุนลองไปเดินห้างกลางเมือง จะพบว่าร้านอาหารในห้างเริ่มมีคนเต็มเหมือนเดิม ตัดภาพไปที่แม่ค้าริมทาง-ตลาดนัด ที่ทุกคนบ่นตรงกันว่า "โคตรเงียบ"

หากรายใหญ่รอด แต่SMEsไปไม่รอด...ตั้งแต่สิ้นเดือนนี้เป็นต้นไป เราจะได้เริ่มเห็นการปิดกิจการ+ปลดคนออก ระลอกใหญ่อีกครั้งนึง

นักลงทุนระยะสั้น แนะนำ "ซื้อเก็งกำไร"
นักลงทุนกลาง-ยาว แนะนำ "ทยอยขายลดพอร์ต"

ดังนั้นในแง่กลยุทธ์การลงทุน เราประเมินว่า สำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี น่าจะมีการดีดตัวขึ้นของSET Index ไม่ต่ำกว่า70-100จุด (ขึ้นไปทดสอบ 1400-1500 จุด อีกครั้ง)

สำหรับนักลงทุนเก็งกำไร เราแนะนำให้ "ซื้อเก็งกำไร" เพื่อรอขายทำกำไรในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ส่วนนักลงทุนระยะกลาง-ยาว เราแนะนำให้ใช้จังหวะดีดตัวขึ้น "ขายลดพอร์ต" เพื่อสะสมกระสุนสำหรับเข้าซื้อในรอบถัดไปอีกครั้ง

หมวดหมู่ : Monthly Report

บทความแนะนำ

แอดไลน์มาคุยกับเราได้นะ^^

 
แอดไลน์มาคุยกับเราได้ที่

Line : @allfinn