ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
หัวข้อ :
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา ให้เสียภาษีโดยใช้อัตราภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งแบ่งสถานะได้ดังต่อไปนี้
1.บุคคลธรรมดา
จากข้อนี้จะเห็นว่ากฎหมายได้หมายความถึงบุคคลทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ หากมีรายได้ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น
- อายุเท่าไหร่ก็ต้องเสียภาษี : ทุกอายุไม่ว่าจะเป็นเด็ก ถ้ามีรายได้ก็ต้องเสียภาษี หรือคนแก่ต่อให้ยังมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี
- ประกอบอาชีพอะไรก็ตาม : ทุกอาชีพต่อให้เป็นนักบวช หรือ พระภิกษุ หากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษี
2.ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
กรณีที่มีบุคคลใดมีรายได้ และเสียชีวิตระหว่างปีภาษี กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลนั้นยังมีภาระที่จะต้องเสียภาษีเปรียบเสมือนยังมีชีวิตอยู่ โดยให้ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ดำเนินการแทนผู้เสียชีวิต
3.กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หากให้นิยามง่ายๆก็คือรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สินของผู้ตาย
โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่าเมื่อผู้ตายเสียชีวิตเกินหนึ่งปี แล้วยังไม่ได้มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาท ในปีภาษีถัดมามรดกนั้นจะถูกเรียกว่ากองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งถ้ากองมรดกนั้นยังคงมีรายได้เกิดขึ้น เช่นค่าลิขสิทธิ์ เงินปันผล หรือ ดอกเบี้ย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ทายาทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เสียภาษี โดยให้เสียภาษีในอัตราภาษีบุคคลธรรมดา
4.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียน คือ กลุ่มบุคคลตั้งแต่2คนขึ้นไป รวมตัวกันทำกิจกรรม เพื่อแบ่งกันกำไรกัน
- คณะบุคคล คือ กลุ่มบุคคลตั้งแต่2คนขึ้นไป รวมตัวกันทำกิจกรรม โดยไม่ได้วัตถุประสงค์เพื่อแบ่งกำไรกัน
เนื่องจากทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลยังไม่ถูกนับเป็นนิติบุคคล ดังนั้นเมื่อมีรายได้กฎหมายจึงกำหนดให้ทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลต้องเสียภาษีในรูปแบบของบุคคลธรรมดา
5.วิสาหกิจชุมชน
สำหรับวิสาหกิจชุมชนจะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งกฎหมายยังไม่ได้จัดให้อยู่ในส่วนของนิติบุคคล ดังนั้นเมื่อมีรายได้จึงจำเป็นต้องเสียภาษีในรูปแบบของบุคคลธรรมดา
แหล่งที่มา : กรมสรรพากร, มาตรา 56 ประมวลรัษฎา, มาตรา 57 ทวิ ประมวลรัษฎากร